วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม (OA Knee)

ปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม (OA Knee)

ข้อเข่า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น ยืน เดิน วิ่ง กระโดด โดยข้อเข่าจะรับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมด รวมทั้งรับแรงกดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน ก็ทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูกข่า ข้อเข่าจึงมีโอกาสเสื่อมสภาพ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุ เพศ น้ำหนักตัว และการใช้งานของข้อเข่าแต่ละคน พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี แต่มักพบบ่อยเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี พบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย

อาการที่บ่งบอกถึงการเริ่มมีข้อเข่าเสื่อม


  • นั่งนาน ๆ หรือนั่งกับพื้นแล้วลุกขึ้นจะลุกลำบากและมีอาการปวดรอบ ๆ เข่า
  • เมื่อขึ้นลงบันไดแล้วมีอาการเสียวและปวดเข่า
  • เดินหรือยืนนาน ๆ มีอาการปวดเข่า หรือรู้สึกเข่าอ่อน ไม่มีแรง ไม่มั่นคงในการทรงตัวเวลายืนหรือเดิน
  • มีอาการบวมและร้อนที่รอบ ๆ เข่าเป็น ๆ หาย ๆ ถ้าเป็นมาก เวลาเดินหรือยืน เข่าจะเริ่มมีอาการโก่งผิดรูป
  • มีอาการปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่น่องและข้อพับ บ่อย ๆ
  • รู้สึกว่ามีอาการขัด ๆ เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ไม่เต็มที่ เช่น งอเข่า เหยียดเข่าได้น้อยกว่าปกติ
  • มีเสียงดังในข้อขณะที่มีการขยับเคลื่อนไหวข้อเข่า

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดอาการ

  • อายุ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการปวดเข่า แต่อาจพบได้ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปีได้ หากมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีประวัติการใช้ข้อเข่ามาก เช่น นักกีฬา เป็นต้น
  • เพศ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิงสูงอายุ เกิดจากการปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป และมักทำงานที่ต้องงอเข่าอยู่เป็นประจำ เช่นการนั่งทำงานกับพื้น เป็นต้น
  • การใช้งาน ผู้ที่มีประวัติการใช้ข้อเข่ามาก ๆ หรือมีประวัติการบาดเจ็บบริเวณเข่า โดยเฉพาะนักกีฬา จะมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป
  • น้ำหนักตัว ส่วนใหญ่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินกว่ามาตรฐาน จะมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้มาก
  • เคยได้รับอุบัติเหตุจนเกิดการบาดเจ็บในข้อเข่ามาก่อน
  • เคยมีการอักเสบอย่างรุนแรงในข้อเข่ามาก่อน
  • มีความพิการผิดรูปของข้อเข่าหรือ แนวขา ตั้งแต่กำเนิด

การคำนวนน้ำหนักตัวมาตรฐาน

  • ชาย ความสูง (ซ.ม.) - 100 = น้ำหนักตัวมาตรฐาน

  • หญิง ความสูง (ซ.ม.) - 110 = น้ำหนักตัวมาตรฐาน

หลักปฏิบัติตัวเพื่อมิให้ข้าเข่าเสื่อมเร็วกว่าที่ควร

  • การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป ในกรณีที่อ้วนควรลดน้ำหนักตัวให้ได้ตามมาตรฐาน
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข่าในท่าที่มีการกดกระดูกภายในเข่ามาก ๆ เช่นการนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งยอง ๆ การยืนนาน การดีดสะบัดขาแรง ๆ เป็นต้น
  • ควรบริหารข้อเข่าอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าแข็งแรง ทำให้ข้อเข่ากระชับ เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

แนวทางการรักษา

ในปัจจุบันไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ จุดมุ่งหมายในการรักษาจะเน้นไปที่การลดอาการปวด การทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การป้องกานและการแก้ไขการผิดรูปของข้อเข่า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เป็นปกติ ดังนั้นกวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อมโดยการ ควบคุมน้ำหนักตัว การบริหารข้อเข่าอย่างถูกวิธี และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต

การรักษาอาการปวดเข่าด้วยตนเอง

  • พักการใช้ข้อเข่า ในระยะแรก ควรพักข้อเข่าไว้ก่อนอย่าเพิ่งลงน้ำหนักมากในข้อเข่าข้างที่ปวด
  • การประคบความเย็น ในระยะที่มีการอักเสบแบบเฉียบพลันประมาณ ในช่วง 1 - 2 วันแรก ควรประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการอักเสบ และอาการบวม โดยใช้แผ่นประคบเย็น(Cold pack) หรือใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ พับเป็นแผ่นแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นไว้ เมื่อนำมาใช้ให้ห่อด้วยผ้าขนหนูที่ชุบน้ำบิดหมาด ๆ นำมาประคบข้อเข่าประมาณ 20 นาที วันละ 2 ครั้ง
  • การประคบความร้อน เมื่อพ้นระยะการอักเสบแบบเฉียบพลันไปแล้ว ประมาณวันที่ 3 เป็นต้นไป โดยการใช้การต้มน้ำร้อนใส่ในกระเป๋าน้ำร้อน หรือขวดแบน นำมาห่อด้วยผ้าขนหนูบิดหมาด ๆ ห่อ 2 - 3 ชั้น นำมาประคบรอบ ๆ เข่าประมาณ 20 นาที วันละ 2 - 3 ครั้ง
  • การใช้อุปกรณ์พยุงข้อเข่า ในช่วงที่มีอาการปวด บวม และอักเสบมาก อาจใช้อุปกรณ์พยุงข้อเข่า(Knee support)หรือ ผ้ายืด(Bandage)ช่วยรัดข้อเข่าให้กระชับ ในขณะนั่ง ยืน หรือเดิน นาน ๆ เพื่อช่วยลดการเสียดสีและการเคลื่นไหวที่มากเกินไปของข้อเข่าได้ แต่ไม่ควรใส่ตลอดทั้งวัน ควรถอดออกบ้างเป็นระยะ ๆ
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องนั้นมีผลอย่างยิ่งต่อการรักษาอาการปวดเข่าจากข้อเข้าเสื่อม พฤติกรรมที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวันมีดังนี้
  • การบริหารข้อเข่า การบริหารข้อเข่าที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อได้ดีขึ้น และสามารถทรงตัวได้ดีขึ้นเวลายืนหรือเดิน การบริหารข้อเข่ามีดังนี้
  • การควบคุมน้ำหนักตัว ในขณะที่เดินจะมีน้ำหนักกดลงที่ข้อเข่าแต่ละข้างประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว เมื่อวิ่งน้ำหนักตัวจะกดลงที่ข้อเข่าเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐานจะทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักน้อยลง การเสื่อมของข้อเข้าจะช้าลงไปด้วย
  • เมื่ออาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัด


การรักษาโดยการใช้ยา

  • ยาแก้ปวด เป็นยาลดอาการปวดแต่ไม่ได้แก้อาการอักเสบ พอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดอีก เช่นยา paracetamol
  • ยาแก้อักเสบ steroid เมื่อสมัยก่อนนิยมใช้กันมากทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดเข้าข้อ แต่ปัจจุบันความ นิยม ลดลงเนื่องจากผลข้างเคียง โดยเฉพาะยาที่ฉีดเข้าข้อจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ steroid ยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมากขึ้น แต่ต้องระวังการเกิดโรคแทรกซ้อน
  • ยาบำรุงกระดุกอ่อน ได้ผลช้าและใช้ค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เป็นที่นิยม
  • การใช้น้ำหล่อเลี้ยงข้อชนิดเทียม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อน้อยทำให้มีการเสียดสีของข้อ จึงได้ มีการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในเข่า 3-5 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ซึ่งจะทำให้ลดการเสียดสีของข้อ ลดอาการปวด แต่การฉีดนี้ใช้ได้เฉพาะข้อที่เสื่อมไม่มาก


การผ่าตัด

  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (arthroscope) เหมาะสำหรับข้อที่เสื่อมไม่มาก แพทย์จะผ่าเข้าไปเอาสิ่งสกปรก ที่เกิดจาก การ สึก ออกมา
  • การผ่าตัดแก้ความโกงงอของเข่า วิธีนี้ต้องตัดกระดูกบางส่วนออกทำให้ใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ ปัจจุบัน นิยมลดลง
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม(TKR) คือการใส่ข้อเข่าเทียมเข้าแทนข้อที่เสื่อม ซึ่งผลการผ่าตัดทำให้หายจากอาการปวด ผู้ป่วยสามารถใช้ ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

กิจวัตรประจำวันสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่า>>>

การออกกำลังกายในผู้ป่วยปวดเข่า>>>